Written by 2:02 pm Aviation

อร่อยโลก#6…รับมอบเครื่องบินที่ตูลูส

พบกับเรื่องราวเบื้องหลังการบริการบนเครื่องบิน โดยเฉพาะอาหารบนเครื่องบิน ที่กว่าจะให้บริการบนเที่ยวบินนั้นมีความซับซ้อนมากมาย ติดตามไปกับ “อร่อยโลก”

การบินไทยกับ AIRBUS

การบินไทยเป็นลูกค้าของ AIRBUS มาตั้งแต่ทศวรรษ 1970-1980 สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแล้ว บริษัทฯถือเป็นลูกค้าอันดับต้นๆของบริษัทผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่ของยุโรปเลยทีเดียวครับ

หลายๆสายการบินหันมามองเครื่องบินจากค่ายน้องใหม่จากทวีปยุโรป (ในสมัยนั้น) ก็เพราะเห็นว่าการบินไทยใช้เครื่องบินจากค่ายนี้เป็นหลักแบบเป็นล่ำเป็นสันและพิสูจน์ให้เห็นว่าเครื่องบิน AIRBUS มีสมรรถภาพและประสิทธิภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเครื่องบินจากค่ายยักษ์ใหญ่จากอีกฝั่งหนึ่งของโลกที่ครองตลาดอยู่ในช่วงนั้ช่วงที่ผมเริ่มเข้าทำงาน การบินไทยมีฝูงบิน AIRBUS รุ่น A300-B4 ปฎิบัติการอยู่แล้ว (ผมยังทันทำงานกับ McDonnell Douglas DC-8-62 และ DC-8-63 ที่ไม่ใช้รถเข็นอาหารหรือ Meal cart มีแต่ Food container หรือตู้หิ้ว (ไม่มีล้อ) ปีที่ผมเข้าทำงานก็มีการรับมอบเครื่องบิน AIRBUS แบบ A300-B4-600 (A300-600 หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า AB6) เครื่องบินรุ่นที่ต่อมาถือกันว่าเป็นม้างาน หรือ Workhorse ตัวจริงเสียงจริงของการบินไทยที่เป็นกำลังสำคัญในการสร้างชื่อให้บริษัทจนก้าวมาเป็นสายการบินชั้นนำของทวีปเอเซียหรือแม้แต่ของโลกในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ต่อมาจนถึงปัจจุบัน

เครื่องบินแบบ McDonnell Douglas DC-8 ของการบินไทย ภาพประกอบจาก Business Traveller

เครื่องบิน AIRBUS รุ่น A300-B4 จนมาถึง A300-600 นับว่าเป็นเครื่องบินที่ผลิตมาโดยคำนึงคุณสมบัติที่เรียกว่า “User Friendly” โดยเฉพาะผู้ทำงานในส่วน Cabin Service และ Ground Service อย่างแท้จริง รวมทั้งในส่วนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการบิน (Operation costs) สำหรับผมถือว่าโชคดีมากที่เริ่มงานพร้อมๆกับเครื่องบินรุ่นและแบบที่เป็นตำนานหน้าหนึ่งของสายการบินแห่งชาติ (บริษัทฯปลดประจำการ A300-600 ไปเมื่อกลางปี 2015 นี่เองครับ)

เครื่องบินแบบ Airbus A300-600 ที่ประจำการในฝูงบินของการบินไทยอย่างยาวนาน

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า AIRBUS เป็นบริษัทสร้างเครื่องบินของกลุ่มประเทศในยุโรปคือฝรั่งเศส เยอรมันนี อังกฤษ และสเปน โดยมีการประกอบชิ้นส่วนขั้นสุดท้ายที่เมืองตูลูส (Toulouse) ประเทศฝรั่งเศส และฮัมบูร์ก (Hamburg) ประเทศเยอรมนี ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 นั้น เครื่องบินแอร์บัสจะถูกประกอบขั้นสุดท้าย (Final assembly) พร้อมทั้งจัดการรับมอบ (Acceptance) และส่งมอบ (Delivery) ที่โรงงานที่ตั้งอยู่ที่สนามบิน Toulouse Blagnac ทุกลำ

พอถึงช่วงต้นทศวรรษ 1990 การบินไทยก็ทะยอยรับมอบเครื่อง AIRBUS A330-300 เข้ามาประจำการให้บริการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า A330 เป็นเครื่องบินพิสัยใกล้ถึงปานกลางที่ทางบริษัทฯจัดหามาเพื่อใช้บินในเส้นทางเอเชียเช่นญี่ปุ่น เกาหลี และระหว่างทวีปเช่นเมืองเพิร์ธ ออสเตรเลีย เป็นต้น

ตูลูส (Toulouse)

ตูลูส (Toulouse) เป็นเมืองที่อยู่ทางทิศใต้ของฝรั่งเศส อยู่ห่างจากกรุงปารีสเป็นระยะทาง 580 กิโลเมตร เขตเมืองทั้งหมดมีประชากรประมาณหนึ่งล้านสองแสนคน ที่นี่เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่และโรงงานประกอบเครื่องบินขั้นสุดท้ายและศูนย์รับส่งมอบเครื่องบินของ AIRBUS ตามที่กล่าวไปแล้ว โดยสำนักงานและโรงงานของ AIRBUS ครอบคลุมอาณาเขตถึง 600 Hectares (ประมาณ 3,750 ไร่) และมีจำนวนพนักงานถึง 16,000 คน พูดถึงการเดินทางไปตูลูส เนื่องจากไม่มีเที่ยวบินตรงจากเมืองไทย วิธีที่ง่ายที่สุดคือไปต่อเครื่องที่ปารีส ช่วงนั้นพอนั่งการบินไทยจากดอนเมืองไปถึงปารีส (Paris Charles de Gaulle – CDG) ผมก็ขอตั๋ว ID Interline จากสายการบิน Air Inter ซึ่งเป็นสายการบินในประเทศที่ถือหุ้นใหญ่โดยสายการบินแอร์ฟรานซ์ (ก่อนที่จะถูกผนวกเข้ามาเป็น Air France ในปี 1997) เที่ยวบิน Air Inter มีทั้งบินออกจากชาร์ลสเดอโกลล์และปารีสออร์ลี่ (Paris Orly – ORY) ถ้าต่อจาก CDG ก็ค่อนข้างสะดวก (ยกเว้นใครที่ไปครั้งแรกๆอาจจะหลงอยู่ในอาคารผู้โดยสารเดินเป็นวงกลมเพราะหาทางออกไม่เจอ) แต่ถ้าเป็นเที่ยวบิน Air Inter ที่ออกจาก ORY ก็มีรถ Shuttle bus บริการซึ่งก็สะดวกดีครับ ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีเท่านั้นจากสนามบิน CDG ไปยังสนามบิน Paris Orly – ORY.

ตูลูส (Toulouse) เป็นเมืองที่อยู่ทางทิศใต้ของฝรั่งเศส อยู่ห่างจากกรุงปารีสเป็นระยะทาง 580 กิโลเมตร

จากปารีสใช้เวลาบินประมาณ 50 นาที ก็ถึงท่าอากาศยาน Toulouse Blagnac (TLS) ครับ นั่งเครื่องบินไฟลท์สั้นๆในยุโรป (แม้กระทั่งช่วงเมื่อ 20 ปีมาแล้ว) ไม่ต้องถกเถียงกันเรื่องอาหารหนักอาหารเบาหรือมากน้อยครับ ไม่มีอะไรเสิร์ฟเลยเป็นปกติอยู่แล้ว ที่บริการเหมือนแก้บนเหมือนๆกันทุกๆสายทุกๆเส้นทางก็คือน้ำดื่มหนึ่งแก้ว เป็นน้ำเปล่า น้ำส้ม โค้ก หรืออาจจะเป็นน้ำชาหรือกาแฟร้อน แล้วก็คุ้กกี้หรือบิสกิตชิ้นเล็กๆหนึ่งชิ้นเป็นจบ

การรับมอบเครื่องบินที่โรงงาน AIRBUS

การส่ง/รับมอบเครื่องบินโดยสายการบินลูกค้าก็จะมีกิจกรรมที่จำเป็นหลายกิจกรรมอยู่นะครับ ผมคงจะเล่าในส่วนที่เกี่ยวกับงานบริการผู้โดยสารในส่วนอาหารและอุปกรณ์การบริการ (Catering and Catering service equipment) เท่านั้น ส่วนงานที่สำคัญก็คือไปตรวจรับอุปกรณ์บริการที่เรียกกันว่า อุปกรณ์ที่ผู้ซื้อสั่งจัดซื้อจัดหา (BFE = Buyer’s Furnished Equipment) ซึ่งก็คืออุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการดำเนินการด้าน Catering Service ทั้งหลายเช่น รถเข็นบรรจุอาหารและอุปกรณ์บริการ รถบรรจุเครื่องดื่ม ตู้บรรจุอาหาร เตาอุ่นอาหารและอุปกรณ์ประกอบ (Oven & Heating equipment) ซึ่งปกติทางผู้ขายอุปกรณ์ดังกล่าวจะนำมาบรรจุไว้ (หลังจากมีการตกลงซื้อขายกันล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว) ตามตำแหน่งบนเครื่องก่อนที่จะมีการรับส่งมอบ ซึ่งนอกจากตรวจอุปกรณ์ต่างๆทุกชิ้นให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้ร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ยังต้องทำ Stock inventory เพื่อส่งมอบให้หน่วยงานสโตร์ใหญ่ที่กรุงเทพด้วย นอกจากนั้นยังต้องประสานงานกับตัวแทนผู้ขายอุปกรณ์และตัวแทน AIRBUS ในกรณีมีปัญหาหรือข้อขัดข้องต่างๆ

ผู้เขียนขณะตรวจรับอุปกรณ์บริการที่เรียกกันว่า อุปกรณ์ที่ผู้ซื้อสั่งจัดซื้อจัดหา (BFE = Buyer’s Furnished Equipment)

การบินไทยและสายการบินลูกค้าสายอื่นๆมักจะมีตัวแทนของตนประจำอยู่ที่ตูลูสเพื่อคอยประสานงานในด้านต่างๆระหว่าง AIRBUS กับสายการบินของตนครับนอกจากงานภาคบังคับแล้ว งานอีกส่วนหนึ่งก็คือการไปจัดหาอาหารและเครื่องดื่มสำหรับเที่ยวบิน Delivery flight ปกติการรับมอบเครื่องก็จะมีเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งไปจัดการดูแลเตรียมการเรื่องต่างๆรวม ทั้งมีภารกิจในการนำเครื่องบินบินกลับเมืองไทย เช่นนักบิน ช่างอากาศยาน ลูกเรือปฎิบัติการ (หรือที่เรียกกันว่า Technical crew) รวมทั้งเจ้าหน้าที่ส่วนอื่นๆเช่นจากฝ่ายบริการภาคพื้น ฝ่ายการเงิน ฝ่ายกฎหมาย เป็นต้น ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 บางครั้งก็จะมีบุคคลที่ไปร่วมรับมอบเครื่องบินที่ AIRBUS และเดินทางกลับมากับเที่ยวบินรับมอบซึ่งทางบริษัทฯก็ต้องให้บริการให้ใกล้เคียงกับเที่ยวบินปกติเท่าที่จะทำได้ ซึ่งปกติแล้วทาง AIRBUS ก็จะให้บริการอาหารเครื่องดื่มและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้กับเที่ยวบินรับส่งมอบ โดยมีการให้บริการจากครัวการบิน (Flight kitchen) ท้องถิ่นที่อยู่ที่สนามบิน Toulouse Blagnac นั่นเอง อาหารก็จะเป็นอาหารมาตรฐานทั่วๆไปบรรจุในอุปกรณ์แบบใช้แล้วทิ้ง (One-way use) รวมทั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอื่นๆเช่นหมอนและผ้าห่มตามสมควร แต่หากมีผู้โดยสารอื่นๆด้วยและต้องปรับเป็นการบริการที่มีมาตรฐานมากขึ้น ก็จะต้องมีการปรับรายการอาหารบ้างตามความเหมาะสมโดยต้องประสานงานกับพนักงานต้อนรับที่ทำหน้าที่บนเที่ยวบินนั้น และก็อย่างที่ทราบกันดีครับ อาหารไทย (หรืออาหารจีน) เป็นความต้องการที่สำคัญอย่างยิ่งยวดข้อหนึ่งนะครับสำหรับผู้โดยสาร (หรือเจ้าหน้าที่และพนักงาน) ชาวไทยเรา การที่มี Catering Coordinator ไปร่วมภารกิจ อย่างไรก็ตาม การบริการและความสะดวกสบายต่างๆในเที่ยวบินก็จะถูกจำกัดด้วยสถานภาพของเที่ยวบินที่ไม่ใช่เที่ยวบินปกติ ซึ่งผู้โดยสาร (หากมี) ก็เข้าใจครับ

ผู้เขียนระหว่างภารกิจรับมอบเครื่องบินแบบ Airbus A330-300 ของการบินไทยทะเบียน HS-TEM เมื่อปี 2000

ผู้เขียนระหว่างภารกิจรับมอบเครื่องบินแบบ Airbus A330-300 ของการบินไทยทะเบียน HS-TEM เมื่อปี 2000

ผมจำได้ว่าครั้งแรกๆที่ไปตูลูส พักที่โรงแรม Parthenon ซึ่งปกติทางทีมรับมอบเครื่องในส่วนเทคนิคคือช่างและ Technical crew ที่จะต้องใช้เวลานานหลายวันหรือแรมเดือนเพื่อทำ Test flight และตรวจรับเครื่องไปพักอยู่ประจำ โรงแรมนี้มีครัวและห้องรับประทานอาหารเป็นส่วนกลางให้พวกเราโดยเฉพาะ ที่ไม่เคยลืมก็คืออาหารมื้อแรกในตูลูสหลังจากไปถึงและเช็คอินเข้าพักที่โรงแรมคือไข่พะโล้ฝีมือพี่ช่างที่ลงทุนเอาครกไปตำเครื่องแกงกันเลยแถมรสชาติก็อร่อยมากครับ

ทางเข้าโรงแรม Parthenon ภาพประกอบจาก Hotels.com

การไปทำงานที่ศูนย์ฯ ปกติทางแอร์บัสเขามีรถรับส่ง แต่ผมมักจะมีเวลาทำงานและกลับไม่ค่อยตรงกับคนอื่นๆเขา หลายๆครั้งเลยต้องอาศัยแท็กซี่ สรุปกับตัวเองว่าแท็กซี่ที่ตูลูสเป็นแท็กซี่ที่เหม็นกลิ่นบุหรี่ที่สุดในโลกครับ แถมโชเฟอร์ที่นี่ส่วนใหญ่ขับรถแบบปาดซ้ายขวาไม่บันยะบันยัง เวลากลับมาถึงโรงแรมหลายๆครั้งต้องนอนสักพักหนึ่งเพราะเมารถเมากลิ่นบุหรี่หนักทำอะไรไม่ไหวเลยทีเดียว ว่างจากงานก็เข้าไปเดินในตัวเมือง ตัวเมืองจริงๆมีขนาดไม่ใหญ่มากครับ สมัยนั้นทุกครั้งที่ไปฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นเมืองไหน ที่ขาดไม่ได้ก็คือโพยฝากซื้อของ ซึ่ง “ของ” ในที่นี้ก็คือน้ำหอมนั่นเอง ร้านน้ำหอมในเมืองตูลูสอยู่ไม่ไกลจากโรงแรมนัก เวลาเข้าไปซื้อก็มีความสุขเพลิดเพลิน เจริญใจดีเพราะจะหอมฟุ้งจรุงใจไปทั้งร้าน แถมด้วยว่าเขาจะมีน้ำหอมตัวอย่างแจกฟรีให้เป็น ขวดเล็กๆหลายๆขวดหลายๆยี่ห้อ ซึ่งปกติผมจะเป็นคนชอบมากเรื่องของฟรีอยู่แล้ว ช่วงไหนว่างหน่อยก็จะไปเดินวนเข้าวนออกหลายหนหน่อย ได้เอากลับมาแจกสาวๆในออฟฟิศเมืองไทยได้หลายคน

บรรยากาศในเมืองตูลูส

ผมไปตูลูสหลายทริปอยู่ครับ นับว่าที่นี่เป็น “เมืองครู” เมืองหนึ่ง (ช่วงหลังๆการรับมอบส่งเครื่องมักจะจำกัดบุคลากรให้น้อยที่สุดด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ) เพราะหน้าที่การงานต่อไปคงต้องมีภาคบังคับที่หนีไม่พ้นในการไปทำงานและปฏิบัติภารกิจภายใต้สถานการณ์ที่ไม่มีตำราหรือสคริปต์สอนหรือเขียนวิธีทำวิธีปฏิบัติเอาไว้ หรือแม้กระทั่งภารกิจที่แทบไม่มีข้อมูลรายละเอียดเลย ขึ้นเครื่องบินแบบไปลุยเอาดาบหน้า ซึ่งก็จะได้นำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อๆไปครับ

 

______________________________

อย่าลืมติดตาม Wingtips เพื่อที่จะไม่พลาดข่าวสารและเรื่องเล่าการบินอื่นๆตามช่องทางดังนี้

Homepage : Wingtips
Facebook : WingtipsTH
Instagram : wingtips_th

สำหรับติดต่อโฆษณาและอื่นๆสามารถส่งรายละเอียดมาได้ที่ [email protected]

Tags: Last modified: January 30, 2021
Close