Written by 8:42 pm Aviation

อร่อยโลก#2….ความอร่อยแบบ New York, New York

พบกับเรื่องราวเบื้องหลังการบริการบนเครื่องบิน โดยเฉพาะอาหารบนเครื่องบิน ที่กว่าจะให้บริการบนเที่ยวบินนั้นมีความซับซ้อนมากมาย ติดตามไปกับ “อร่อยโลก”

New York, New York

ตอนที่ผมเริ่มทำงานที่การบินไทยเมื่อกว่าสามสิบปีมาแล้ว เที่ยวบินที่บริษัทฯทำการบินไปยังสหรัฐอเมริกาคือ TG740 เส้นทางบิน กรุงเทพ – โตเกียว(นาริตะ) – ซีแอตเติ้ล – ดัลลัส (ฟอร์ทเวิร์ธ) ใช้เครื่องบินแบบ Boeing B747-200
จากนั้นมาก็มีการปรับเปลี่ยนเส้นทางและจุดหมายปลายทางในสหรัฐฯหลายครั้งและหลายรูปแบบ อาจจะเรียกว่าเปลี่ยนแทบจะทุกๆสองหรือสามปีก็ว่าได้ เป็นที่เข้าใจกันครับว่าเส้นทางบินของการบินไทยไปสหรัฐอเมริกานั้นเป็นเส้นทางบินที่ไม่ทำกำไรให้กับบริษัทฯ เพราะฉะนั้นการที่ต้องพยายามปรับเปลี่ยนจุดหมายปลายทางและเส้นทางบินหรือแบบเครื่องบินให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพความต้องการของตลาดในช่วงนั้นๆตลอดเวลาจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผมมีโอกาสไปทำงานที่ซีแอตเติ้ลหลายครั้ง และถือเป็นเมืองหรือสถานที่หนึ่งที่ชอบมาก ดัลลัสก็ได้มาไปครั้งหนึ่งก่อนที่จะเลิกบิน แต่ด้วยสถานีที่บริษัทฯทำการบินมีแต่ทาง West Coast(ฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ) ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะได้ไปเยือนฝั่งตะวันออกหรือ East Coast เลย (ถึงแม้ว่าจะได้มีโอกาสไปเยือนเมืองหลวงอย่างวอชิงตัน ดี.ซี.กับเที่ยวบินพิเศษบ้างก็ตาม) แต่เมืองที่ถือเป็นดีหนึ่งประเภทหนึ่งของประเทศอย่างนิวยอร์กซิตี้ (NYC) นี่โอกาสที่จะได้ไปเยี่ยมเยียนค่อนข้างมืดมนครับ เพราะไม่มีวี่แววเลยว่าทางบริษัทฯจะเปิดเส้นทางบินประจำไปทางฝั่งตะวันออก
(ถึงแม้ว่าจะมีข่าวลือแว่วมาจะเปิดบินไปบางเมืองเช่นชิคาโกลอยตามลมมาเป็นครั้งคราวก็ตาม) แต่เหมือนฝันเป็นจริงอย่างไรอย่างนั้น ช่วงปี ค.ศ.2004 ก็เริ่มมีข่าวออกมาว่าบริษัทฯจะเปิดเส้นทางบินตรง กรุงเทพ – นิวยอร์ค (JFK) – กรุงเทพโดยใช้เครื่องบินแบบ AIRBUS A340-500 ที่เป็นเครื่องแบบ Extra Long Haul บินไกลถึงนิวยอร์กโดยไม่ต้องแวะจอดซึ่งจะว่าไปแล้วถือเป็นนวัตกรรมใหม่ (ในเชิงพาณิชย์) อย่างแท้จริง ประกอบกับในช่วงนั้นเป็นช่วงความนิยมเดินทางไกลรวดเดียวได้รับความนิยมขึ้นมาอย่างมากด้วย

การบินไทย นิวยอร์ค

เครื่องบินแบบ Airbus A340-500 ของการบินไทยที่นิวยอร์ค อีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของการบินไทย

แต่ฝันที่เป็นจริงเป็นฝันร้ายก่อนครับ เป็นเวลาเกือบปีที่ผมและเพื่อนพ้องน้องพี่ต้องนั่งสุมหัวกันบนเลย์เอาท์ของเครื่องบินแบบดังกล่าวและเอกสารอื่นๆอีกเป็นปึกๆ โจทย์ข้อแรกก็คือเวลาบิน (Flight time) ยาวมาก เที่ยวไปดอนเมือง – เจเอฟเค (เรียกกันว่า Polar route หรือเส้นทางบินผ่านบริเวณขั้วโลกเหนือ) จะใช้เวลาบินตั้งแต่ 15 ชั่วโมงครึ่งถึง 17 ชั่วโมง ในขณะที่เที่ยวบินขากลับซึ่งจะบินอ้อมขั้วโลกเหนือผ่านมาทางสแกนดิเนเวียจะใช้เวลาบินสั้นกว่าเล็กน้อยคือประมาณ 14-15 ชั่วโมง ซึ่งเวลาบินนานขนาดนั้นต้องมีการบริการอาหารมากถึงสามครั้งหรือสามมื้อหลักเลยทีเดียว (เครื่องบินแทบทุกแบบและทุกลำของสายการบินต่างๆในโลกนี้ออกแบบมาให้บรรจุอาหารและ เครื่องดื่มรวมทั้งอุปกรณ์บริการได้เท่ากับหรือไม่เกินสองมื้อหลักเท่านั้น) ซึ่งจริงๆแล้วโจทย์เรื่องจำนวนและขนาดของอาหารเครื่องดื่มและอุปกรณ์ที่ต้องการเปรียบเทียบกับเนื้อที่และความจุของที่จัดเก็บบนเครื่อง (Galley และ Stowage compartment) ก็มักจะเป็นปัญหาหนักอกของผู้วางแผนและผู้ทำงานที่เกี่ยวข้องมาตลอดอยู่แล้วครับ แต่งานนี้หนักหนาสาหัสสากรรจ์กว่าที่เคยเพราะต้องเสิร์ฟอาหารถึงสามมื้อหลักแถมอุปกรณ์บริการและอุปกรณ์เสริมความสะดวกสบายบนเที่ยวบินก็มีจำนวนมากเป็นเงาตามตัวของชั่วโมงบินที่ยาวนานมากนั่นเอง

โจทย์ใหญ่ข้อที่สองก็คือชั้นบริการครับ เครื่องบินแบบ A340-500 ที่บริษัทฯจัดหามาจะมีการจัดชั้นบริการแบบสามชั้นบริการคือ ชั้นธุรกิจ (Business หรือ Silk class) ชั้นประหยัดแบบพรีเมียม (Premium Economy) และชั้นประหยัด (Economy) ซึ่งดูแล้วก็เหมือนไม่ยากแต่ก็ไม่ง่ายเลยครับ เพราะมันเกี่ยวโยงหรือเกี่ยวพันกันไปหมดทั้งอาหารเครื่องดื่ม อุปกรณ์บริการ สถานที่จัดเก็บและที่สำคัญที่สุดที่มองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือแผนการบริการของฝ่ายบริการบนเครื่องบิน

การบินไทย นิวยอร์ค

ชั้นโดยสาร Premium Economy ที่มีให้บริการในเครื่องบินแบบ Airbus A340-500 เท่านั้น จัดที่นั่ง 2-3-2 มีทั้งหมด 42 ที่ (ภาพจากการบินไทย)

การบินไทย นิวยอร์ค

ผังที่นั่งของ Airbus A340-500 การบินไทย มีชั้นธุรกิจ 60 ที่นั่ง ชั้นประหยัดพรีเมียม 42 ที่นั่ง ชั้นประหยัด 113 ที่นั่ง รวม 215 ที่นั่ง (ภาพจาก SeatGuru)

โจทย์หลักอีกข้อหนึ่งซึ่งยากไม่แพ้โจทย์ข้ออื่นๆก็คือ เวลาทำการบิน (Flight schedule) ของเที่ยวบินนั่นเอง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาครับ เที่ยวบินใหม่ เส้นทางใหม่ ทางฝ่ายวางแผนและฝ่ายการตลาดก็ต้องพยายามสรรหาหรือจัดหาเวลาปฏิบัติการของเที่ยวบินนั้นให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อรายได้รวมทั้งการปฏิบัติการของส่วนต่างๆในบริษัทฯให้มากที่สุด โจทย์ข้อหลังสุดนี้ทำให้เสียเวลามากที่สุด แต่ก็อย่างที่บอกข้างต้น มันเป็นส่วนหนึ่งของงาน หรือเป็นความจริงที่เราต้องยอมรับตั้งแต่วันแรกที่เราเข้ามานั่งทำงานนั่นละครับ เรียกว่ากว่ารูปแบบการบริการจะเป็นรูปเป็นร่างก็เล่นเอาผมขาวบนศีรษะเพิ่มอีกหลายหย่อมทีเดียวครับ

เที่ยวบินปฐมฤกษ์ ดอนเมือง – นิวยอร์ก เจเอฟเค บินเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2548 (1 May 2005) ถือเป็นการเปิดศักราชเส้นทางบินสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันออกของสายการบินแห่งชาติ และยังเป็นเที่ยวบินที่ยาวและใช้เวลาบินนานที่สุดในโลกเป็นอันดับสอง(รองจากเส้นทางบินสิงคโปร์ – นิวยอร์ก นูวาร์ก (New York Newark) เลยทีเดียว แต่สำหรับผมเองแล้ว เที่ยวบิน TG794 BKK-JFK เที่ยวแรกก็คือ TG794/15MAY2005 หลังจากเริ่มบินได้ประมาณสองสัปดาห์ และได้รับข้อมูลปัญหาข้อขัดข้องมาจากทางฝ่ายบริการผู้โดยสารบนเครื่องบินมาพอสมควร รสชาติของการเดินทางไปทำงานทริปนี้เริ่มตั้งแต่ตอนต่อแถวหน้าเคาน์เตอร์เช็คอินที่ดอนเมือง เพราะมีผู้โดยสารคนไทยวัยกลางคนคนหนึ่งพอได้ยินว่าผมเป็นพนักงานของการบินไทยก็เดินรี่เขามาหาพร้อมทั้งถามว่าการบินไทยทำไมรวยจัง พอเห็นผมยืนงง (เป็นใครๆก็คงงงเหมือนกันนะครับ) แกก็บอกต่อว่าแกเป็นคนไทยที่ไปอาศัยอยู่ที่นิวยอร์กเกือบสามสิบปีมาแล้ว พอการบินไทยเปิดเที่ยวบินตรงแกก็เลยบินกลับมาเที่ยวเมืองไทยและจะบินกลับนิวยอร์กไฟลท์เดียวกับผม หลังจากติชมเรื่องโน้นเรื่องนี้ที่แกพบมาบนเที่ยวบิน JFK-BKK แล้ว แกก็บอกว่าการบินไทยใช้ช้อนมีดส้อม (Cutlery)บนถาดอาหารชั้นธุรกิจสิ้นเปลืองมากเพราะนับแล้วมื้อหนึ่งในแต่ละถาดมีมีดถึงสามด้ามและส้อมสองคัน แกบอกว่าแกใช้เพียงอย่างละคันเท่านั้น ผมก็เลยอธิบายว่าเป็นการบริการตามคอร์สอาหารครับ แต่บนเครื่องพนักงานต้อนรับไม่สามารถนำมีดส้อมมาเปลี่ยนหรือเสริมให้ใหม่ก่อนเสิร์ฟอาหารคอร์สต่อไปเหมือนในภัตตาคารหรือโรงแรมสี่หรือห้าดาว ก็เลยต้องจัดเป็นชุดไว้เลยในถาดอาหาร โดยมีดด้ามแรกจะใช้สำหรับเฟิร์สคอร์สหรืออาหารเรียกน้ำย่อย ด้ามที่สองและสามสำหรับเมนคอร์สและผลไม้กับชีสตามลำดับ ส่วนส้อมก็เช่นเดียวกันครับ สำหรับเฟิร์สคอร์สและเมนคอร์สนั่นเอง ผู้โดยสารท่านนั้นก็ยังทำหน้าไม่เข้าใจอยู่ดีครับบ่นว่าสิ้นเปลืองๆอยู่ไม่ขาดปาก นี่คือหนึ่งในตัวอย่างของอเมริกันสไตล์แบบอเมริกันชนที่ผมจะต้องไปผจญอยู่กับมันอีกหลายวันข้างหน้า

การบินไทย นิวยอร์ค

รูปแบบการให้บริการอาหารบนชั้นธุรกิจของการบินไทยในช่วงปี 2548

ช่วงเริ่มบิน TG794 ออกเดินทางจากกรุงเทพช่วงเที่ยงคืน ผมรู้สึกตื่นเต้นเล็กน้อยนะครับ ที่จะต้องบินรวดเดียวสิบหกชั่วโมงครึ่ง อีกทั้งเตรียมตัวเต็มที่ที่จะคอยดูแสงเหนือ (Aurora) และหมีขั้วโลก (Polar Bear)ตามที่มีคนหลอกไว้ว่าถึงตอนบินผ่านส่วนขั้วโลกเหนือให้เปิดหน้าต่างเครื่องบินมองลงมาก็จะเห็นหมีขั้วโลก พอบินจริงๆแล้วในระหว่างเที่ยวบินก็ไม่รู้สึกอะไรนะครับ ต้องเรียกว่าไม่รู้คืนรู้วันก็ได้ ได้แต่นับเวลาไปเรื่อยๆครับ ถึงเวลาก็จะถึงเอง การบริการอาหารก็เป็นมื้อหลักมื้อแรกหลังจากเครื่องออกเดินทางจากดอนเมืองและมื้อหลักอีกมื้อหนึ่งก็ถึงนิวยอร์กเจเอฟเค ส่วนช่วงระหว่างบินสำหรับชั้นธุรกิจก็เป็นอาหารมื้อเบาๆหรืออาหารว่าง ผู้โดยสารส่วนใหญ่ก็ทำตัวได้กลมกลืนกับสถานการณ์ดีนะครับ พอเปิดไฟในแคบินก็ลุกขึ้นมาทานอาหารพอทานอิ่มปิดไฟก็นอนกันต่อ ปิดไฟหลับเปิดไฟตื่นกินอาหารสามรอบก็ถึงนิวยอร์ก เจเอฟเค

การบินไทย นิวยอร์ค

บรรยากาศระหว่างเที่ยวบิน 16 ชั่วโมงครึ่ง ถือเป็นเที่ยวบินที่ยาวที่สุดของการบินไทย

การบินไทย นิวยอร์ค

บรรยากาศระหว่างทาง กับวิวเครื่องยนต์ Rolls-Royce Trent500

JFK และ LSG Sky Chefs นิวยอร์ค

ท่าอากาศยานนานาชาติที่มีเทอร์มินัลถึง 8 เทอร์มินัลและรันเวย 4 รันเวย์ พอผ่านพิธีการทางตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรเรียบร้อย ผมก็เข้าพักที่โรมแรมหนึ่งในแถบสนามบินตามธรรมเนียม ที่นิวยอร์กก็เหมือนสนามบินทุกแห่งในสหรัฐฯ ถ้าพักโรงแรมไม่ไกลสนามบินทางโรงแรมก็จะมีรถรับส่ง (Shuttle bus) ระหว่างโรงแรมและสนามบินสะดวกสบายมากครับ โรงแรมในแถบจาเมก้า (Jamaica) แถวๆนี้ก็โอเคนะครับ พอพักได้สบายๆ ไม่มีปัญหาขัดข้องอะไรยกเว้นจะมีคำเตือนกันเท่านั้นเองว่าหลังสองทุ่มไปแล้วไม่จำเป็นมีธุระ สำคัญอะไรก็ไม่ควรออกไปเดินนอกโรงแรม
ผมนึกถึงตรงนี้แล้วก็เจ็บใจ ชอบพูดกันนักว่าเมืองไทยไม่ปลอดภัยอย่างโน้นอย่างนี้ นี่เห็นไหมครับขนาดนิวยอร์กแท้ๆพอตกค่ำก็ออกไปเดินนอกโรงแรมไม่ได้แล้ว ที่นิวยอร์กเจเอฟเค ครัวการบินที่ให้บริการการบินไทยคือ LSG Sky Chefs ครับ โดยได้รับการคัดเลือกเหนือครัวการบิน Gate Gourmet และ Flying Food

ผมไปถึงเข้าโรงแรมพักผ่อนสักพักหนึ่งก็รีบออกไปทำงานที่ครัวฯซึ่งตั้งอยู่บริเวณไม่ไกลจากสนามบินนัก ก็เป็นงานที่น่าปวดหัวอีกแบบหนึ่งครับ ปวดหัวทำงานกับออสซี่ ทำงานกับพวกยุโรป คราวนี้กับพวกอเมริกันสารพัดเชื้อชาติ ปัญหาเรื่องคนหรือพนักงานก็ไม่เท่าไหร่ครับ เรื่องอาหารและประสบการณ์มากกว่า พวกนี้ชินกับสายการบินอเมริกันเองและสายการบินจากอเมริกันหรือแคริบเบียนและส่วนใหญ่เป็นเที่ยวบินระยะสั้น (Short-haul) ถึงระยะกลาง (Medium-haul) เท่านั้น พอต้องมาทำอาหารและจัดการเครื่องที่มีการบริการแบบพรีเมี่ยมบินระยะไกลมากๆต้องบริการถึงสามมื้ออาหารก็ถึงกับมึงงงจับอะไรทำอะไรไม่ถูก ต้องคอยบอกคอยชี้ให้แทบทุกจุดทีเดียว ยังดีครับที่ครัวการบิน LSG Sky Chefs ให้บริการเที่ยวการบินไทยอยู่แล้วในหลายสถานี เขาเลยส่งพนักงานเช่นพ่อครัวและหัวหน้าส่วนปฏิบัติการจากเมืองอื่นๆที่คุ้นเคยกับอาหารและการจัดการให้เครื่องการบินไทยมาช่วยที่นี่ด้วย ทำให้แบ่งเบาภาระของเราให้ปากเปียกปากแฉะพร้อมทั้งการที่จะต้องลงไม้ลงมือเองน้อยลงครับ

การบินไทย นิวยอร์ค

บริเวณด้านหน้าของครัวการบิน LSG Skychefs นิวยอร์ค (JFK) (ภาพจาก Google Maps)

พอมีโอกาสอยู่ในครัวฯ ผมก็คอยสังเกตรายการอาหารของสายการบินอื่นโดยเฉพาะสายการบินในอเมริกาและยุโรปที่บินไปมาที่เจเอฟเค เปรียบเทียบแล้วก็จะเห็นว่าสายการบินจากทางเอเซียของเรานี้ให้ความสำคัญการกับการบริการบนเที่ยวบินโดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินและเครื่อง ดื่มมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด พนักงานในครัวฯบางคนเห็นอาหารและอุปกรณ์รวมทั้งบรรดาเครื่องดื่มของเราถึงกับยืนเงียบอ้ำอึ้งไปเลยครับ เพราะไม่เคยเห็นว่าจะมีใครจะบริการเต็มที่ถึงอกถึงใจถึงขนาดนี้

การบินไทย นิวยอร์ค

บรรยากาศการทำงานในครัวการบิน LSG Skychefs นิวยอร์ค

นิวยอร์ก นิวยอร์กทั้งที เพิ่งถึงเจเอฟเคก็ชักจะยาวไปแล้ว ติดตามตอนต่อไปได้ที่นี่ Wingtipsที่เดิมครับ สำหรับตอนที่ผ่านมาสามารถอ่านได้ที่ อร่อยโลก#1

สำหรับใครที่อยากติดตามข่าวสารการบินแบบย่อยง่าย อย่าลืมไปติดตามเรากันไว้ที่ Facebook : WingtipsTH

Tags: Last modified: June 30, 2020
Close