Written by 9:22 pm Aviation

อร่อยโลก#4…ฮับ(Hub)การบินไทยในต่างแดน

พบกับเรื่องราวเบื้องหลังการบริการบนเครื่องบิน โดยเฉพาะอาหารบนเครื่องบิน ที่กว่าจะให้บริการบนเที่ยวบินนั้นมีความซับซ้อนมากมาย ติดตามไปกับ “อร่อยโลก”

น่าจะมีคนจำนวนน้อยคนนักนะครับที่จะทราบว่า การบินไทยเคยมีศูนย์กลางปฎิบัติการบิน (Hub หรือ Base) ที่เมืองหรือสนามบินอื่นนอกจากกรุงเทพฯด้วย ความจริงก็คือการบินไทยเคยใช้เมืองซีแอ็ตเทิล (Seattle) เมืองหลักของมลรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกาเป็นจุดศูนย์กลางการบิน ถึงแม้จะเป็นช่วงระยะวลาสั้นๆระหว่างปลายเดือนตุลาคมปี 1991 ถึงต้นเดือนตุลาคมปี 1992 ก็ตาม

Seattle Thai Airways

Space Needle ถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของซีแอตเทิล โดยสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 1961  (ภาพจาก Pixabay)

ซีแอตเทิลตั้งอยู่บริเวณตะวันตก เหนือสุดของสหรัฐอเมริกา ติดกับพรมแดนประเทศแคนาดา (ภาพจาก Google Maps)

สหรัฐอเมริกา ดินแดนแห่งเสรีภาพและสวรรค์บนดินของนักเดินทางและนักท่องเที่ยวทั่วโลก ต้นเดือนกันยายนปี ค.ศ.1991 ความฝันของผมอีกฝันหนึ่งก็เป็นจริงเมื่อนายเดินเข้ามาที่โต๊ะทำงานแล้วบอกว่าให้เตรียมตัวบินไปซีแอ็ตเทิ่ลเพื่อตรวจงานการให้บริการอาหารสำหรับเที่ยวบินของบริษัทฯที่ขณะนั้นใช้เครื่องบินแบบ DC-10-30ER ในเส้นทางกรุงเทพ นาริตะ/ไทเป ซีแอ็ตเทิล ไปกลับ พร้อมทั้งให้ไปเตรียมงานการให้บริการเที่ยวบินใหม่ที่จะเปิดบินระหว่างซีแอ็ตเทิลกับโตรอนโต (YYZ) ประเทศแคนาดาด้วย

Seattle Thai Airways

DC-10-30ER ของการบินไทยที่ Seattle โดยผู้เขียนถ่ายจากเครื่องบินแบบ Airbus A310-300 ของการบินไทยที่เคยไปประจำการที่สหรัฐอเมริกา ถือเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของการบินไทย

ซีแอ็ตเทิลเป็นเมืองหลักของรัฐวอชิงตัน ตอนนั้นต้องยอมรับว่าก่อนเดินทางไปผมยังไม่ทราบเลยครับว่าสหรัฐฯมีสองวอชิงตัน หนึ่งก็คือมลรัฐวอชิงตันที่เรากำลังพูดถึงอยู่และอีกหนึ่งวอชิงตันคือวอชิงตันดีซี (Washington D.C.) ซึ่งเป็นเมืองหลวง (ต่อมาก็ยังรู้เพิ่มอีกว่ามีวอชิงตันที่สามด้วย คือแอ็ปเปิ้ลวอชิงตัน) หลังจากการบินไทยเปิดเที่ยวบิน กรุงเทพนาริตะซีแอ็ตเติ้ล ลอสแองเจลิสในปี 1981 และต่อมาปรับเปลี่ยนเป็น กรุงเทพ นาริตะ ซีแอ็ตเทิล ดัลลัส ด้วยเครื่องบินแบบ B747-200 ในช่วงที่ผมเดินทางก็ปรับอีกครั้งหนึ่งเป็น DC-10-30ER ตามที่ว่าไว้ข้างต้น

ผมจำได้ว่าคืนก่อนเดินทางมีธุระอยู่ที่พัทยาที่จริงก็วางแผนไว้ว่าจะกลับกทม.ตอนเย็นวันก่อนนั้นเพื่อเตรียมตัวเดินทางเพราะไฟลท์ออกเช้ามาก ประมาณ 07:20น. ปรากฎว่าเอาเข้าจริงธุระไม่เสร็จครับ ต้องขับรถออกจากพัทยามาตั้งแต่ตีสามครึ่งกลับมาเข้าบ้านที่เมืองนนท์แล้วรีบอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าออกไปดอนเมือง ซึ่งก็ทำเวลาได้พอดีเลยครับ นึกว่ายังไงๆเดี๋ยวได้บินไปรวมแล้ว 13-14 ชั่วโมงได้นอนบนเครื่องสบายๆ แต่ที่ไหนได้ เครื่องขึ้นไปไม่ถึงชั่วโมงมองทางหน้าต่างเห็นว่ากำลังบินข้ามแม่น้ำโขงก็ได้ยินเสียงกัปตันประกาศว่าเครื่องยนต์เครื่องหนึ่งมีปัญหาต้องบินกลับดอนเมือง สรุปคือได้ลงจากเครื่องมานั่งหลับนกใน Departure Gate รอช่างซ่อมเครื่องยนต์ให้สามารถบินออกเดินทางได้ใหม่เสียเวลาไปสองชั่วโมงกว่าๆ

พูดเรื่องประสบการณ์เรื่องแบบนี้ ผมเดินทางมาเกือบสามสิบปี ทั้งโดยการไปทำงานหรือเดินทางส่วนตัว ซึ่งก็แน่นอนครับ ส่วนใหญ่กว่า 90% ก็บินกับการบินไทย ต้องยอมรับว่าทุกๆครั้ง Smooth as Silk จริงๆกรณีเครื่องขัดข้องต้องกลับมาลงนี่ถือว่าเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตการเดินทางเลย หรือเรื่องการจัดการกระเป๋า อย่าหาว่าเชียร์กันเองเลย บินมาไม่เคยกระเป๋าหายครับ เพิ่งเจอครั้งแรกในชีวิตเมื่อสักสิบปีมานี่เองตอนบินจากกรุงเทพไปมาดริดที่กระเป๋าใหญ่หาย (จริงๆแล้วมันไปเที่ยวน่ะครับ เพราะอีกสัปดาห์ต่อมามันก็ถูกส่งกลับมาที่กรุงเทพ) ซึ่งก็จะพอเข้าใจได้ครับ เพราะเขาว่าสนามบินบาราฆาสที่มาดริดมีสถิติเรื่องการแฮนด์ลิ่งกระเป๋าใหญ่แย่ที่สุดในยุโรป

ป้ายโฆษณาเครือข่ายการบินของการบินไทยช่วงต้นปี 1990 (ภาพจากรายงานประจำปีการบินไทยปี 1992)

เที่ยวบิน TG742 แวะที่ไทเปเป็นพอร์ตแรก มีการเปลี่ยนอาหารโดยเอาอุปกรณ์ชุดที่ใช้บริการอาหารไปแล้วในช่วงบินกรุงเทพ ไทเปลงไปและนำขึ้นอุปกรณ์พร้อมอาหารสำหรับช่วงบินไทเป ซีแอ็ตเทิลโหลดขึ้นมาซึ่งในกรณีที่เที่ยวบินดีเลย์แบบวันนี้และจำเป็นจะต้องเปลี่ยนมื้ออาหารเช่นจากอาหารเช้าเป็นอาหารกลางวันหรืออาหารเย็น ทางสายการบินก็จะแจ้งไปให้ทางครัวการบินปฏิบัติตามหรืออาจจะทำเป็นตารางการปรับเปลี่ยนมื้ออาหารไว้ให้ทางครัวฯจัดการเปลี่ยนเมื่อจำเป็นต้องปฏิบัติ

พูดถึงการออฟโหลดและรีโหลดอาหารเครื่องดื่มและอุปกรณ์ จริงๆแล้วหลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่ามันเป็นกิจกรรมที่ต้องการความชำนาญและประสิทธิภาพรวมทั้งทีมเวิร์คการประสานงานที่ยอดเยี่ยมลงตัว ลองนึกภาพดูนะครับ เที่ยวบินทรานสิทอย่างเช่นไฟลท์นี้มีเวลาจอดที่หลุมจอดเพียงชั่วโมงถึงชั่วโมงครึ่งเท่านั้น หักลบกลบเวลาผู้โดยสารขาเข้าลงจากเครื่องและผู้โดยสารขาออกขึ้นเครื่อง เฉลี่ยแล้วจะเหลือเวลาให้ทีม Catering ทำงานประมาณ 20 นาทีเท่านั้น ซึ่งถือว่าโหดมากนะครับสำหรับการขนถ่ายเอาอาหารและอุปกรณ์ทุกสิ่งทุกอย่างที่โหลดขึ้นไปจากกรุงเทพและขนถ่ายอาหารและอุปกรณ์ชุดใหม่ขึ้นให้ครบถ้วนถูกต้องทั้งสองมื้อบริการสำหรับให้บริการช่วงไทเปซีแอ็ตเติล สำหรับเที่ยวบินนี้ (และเที่ยวบินที่ให้บริการโดยครัวการบินย่านนี้ อาทิเช่นสถานีในญี่ปุ่น ฮ่องกง) สบายๆครับ พวกนี้ทำงานเก่งและรวดเร็วมาก ผมไปแอบมองลงมาจาก Transit lounge เห็นทำงานกันไม่นานก็สามารถปิดประตูเครื่องและเอารถโหลดอาหารออกจากเครื่องได้แล้ว

อร่อยโลก เปิดโลกการบริการบนเครื่องบิน

กระบวนการออฟโหลดและรีโหลดอาหารที่ต้องใช้ความชำนาญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเที่ยวบินแวะพักที่ต้องการความรวดเร็วในการทำงาน

สหรัฐอเมริกาครั้งแรกในชีวิตของผมแปลกใหม่น่าตื่นตาตาใจครับ ผมพักที่ Wyndham Hotel ใกล้ๆสนามบิน Seattle Tacoma ความรู้สึกแรกก็คือการใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกับคนอเมริกันง่ายกว่ากับคนอังกฤษหรือคนออสเตรเลียนนิวซีแลนเดอร์ สิ่งที่สองที่สามารถสังเกตได้เลยคือการดำรงชีวิตอยู่ในสหรัฐนี่คงขาดรถส่วนตัวไม่ได้ คือความที่ประเทศมีเนื้อที่กว้างใหญ่ไพศาลทำให้แต่ละจุดหมายอยู่ไกลกันมาก การเดินทางโดยรถประจำทางหรือรถรับจ้างประเภทแท็กซี่ก็ไม่สะดวกเหมือนประเทศอื่นๆ การที่ได้พักบริเวณสนามบินก็เลยก็ตัดปัญหาเรื่องการเดินทางไปได้เรื่องหนึ่ง

ผู้เขียน ณ สนามบิน Seattle Tacoma เมื่อปี 1991

การบินไทยใช้บริการอาหารที่ซีแอ็ตเติ้ลจากครัวการบิน Caterair บริษัทครัวการบินยักษ์ใหญ่เจ้าหนึ่งในสหรัฐฯ สถานที่ตั้งของครัวการบินอยู่ไม่ไกลจากท่าอากาศยาน SEA-TAC นัก ช่วงที่อยู่ที่นั่นบางวันก็โทรนัดให้ทางครัวส่งรถมารับมาส่ง บางวันก็เดินไปเอง อากาศในฤดูใบไม้ร่วงเดือนกันยายนในซีแอ็ตเติ้ลเย็นๆสบายๆ เดินไม่เหนื่อยและตัวแห้งสบายเหงื่อไม่ออก มีอุปสรรคนิดเดียวก็ตรงต้องเดินผ่านสุสานแห่งหนึ่งเท่านั้นเอง ซึ่งไม่มีปัญหาแต่อย่างใดเพราะป่าช้าฝรั่งไม่ค่อยน่ากลัวเท่าไหร่

พูดถึงเรื่องงาน ผมจำได้ดีว่าอเมริกันชนมีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์และศิลปการรับประทานอาหารด้อยกว่าประเทศอื่นหรือทวีปอื่น ก็อย่างที่เราชอบพูดกันว่าคนอเมริกันรับประทานแต่ฟาสต์ฟู้ดเช่นพวกแฮมเบอเกอร์หรือไก่ทอดอะไรเทือกนั้น อย่างไรก็ตามครัวการบินทั่วๆไปก็จ้างพ่อครัวใหญ่มาจากทางฝั่งยุโรปนะครับ เช่น Caterair ในช่วงที่ผมไปทำงานก็มีพ่อครัวใหญ่ (Executive Chef) เป็นชาวฝรั่งเศส เป็นต้น ในส่วนอื่นๆก็อุดมไปด้วยคนต่างชาติต่างภาษาสมกับที่ว่าที่นี่เป็นดินแดงแห่งเสรีภาพและที่ขุดทองของชนชาติต่างๆอย่างแท้จริง ที่น่าสังเกตก็คือหัวหน้างานหรือภาษาสนามบินเขาเรียกกันว่า “Foreman” หรือ “Leader”  ที่นี่เป็นสุภาพสตรี คุณเธอทำงานเหมือนหัวหน้างานเพศชายทุกอย่างแม้กระทั่งงานภาคสนามหนักๆ ผมเห็นเธอโยนตู้ container ใส่น้ำแข็งหนักเกือบยี่สิบกิโลกรัมลอยยังกับเป็นกล่องลังกระดาษแล้วถึงกับอ้าปากค้างเลยครับ

Seattle Thai Airways

หัวหน้างานผู้หญิงชาวอเมริกัน

ผมอยู่ซีแอ็ตเทิ่ลสัปดาห์กว่าๆ ก่อนที่จะเดินทางต่อไปที่โตรอนโต (YYZ) แคนาดา เพื่อเตรียมการสำหรับเที่ยวบินใหม่ ซีแอ็ตเทิ่ล โตรอนโต ซีแอ็ตเทิล โดยจะใช้เครื่องบินแบบ Airbus A310-300 ที่บริษัทฯเช่ามาจาก Wardair มาประจำการที่ซีแอ็ตเทิ่ล ซึ่งเป็นงานที่แปลกและใหม่สำหรับพวกเราทุกคนเพราะจะต้องมีการนำขึ้นอาหารทั้งจากซีแอ็ตเทิ่ลและโตรอนโต รวมทั้งจะต้องทำ Ground service แบบ เต็มรูปแบบ 100% ที่โตรอนโต โดยการบินไทยจะต้องส่ง Cabin service articles หรืออุปกรณ์การบริการบนเครื่องบินจากกรุงเทพมาจัดเก็บไว้ที่นี่เพื่อให้ทางผู้ให้บริการจัดการเซอร์วิสไฟลท์เสมือนที่ทำกันเป็นปกติที่ดอนเมืองเลยทีเดียว….ดีครับ งานยิ่งแปลกงานยิ่งใหม่และท้าทายเท่าไหร่ยิ่งทำให้ชีวิตเรามีรสชาติ

______________________________

อย่าลืมติดตาม Wingtips เพื่อที่จะไม่พลาดข่าวสารและเรื่องเล่าการบินอื่นๆตามช่องทางดังนี้

Homepage : Wingtips
Facebook : WingtipsTH
Instagram : wingtips_th

สำหรับติดต่อโฆษณาและอื่นๆสามารถส่งรายละเอียดมาได้ที่ [email protected]

Tags: Last modified: August 3, 2020
Close