Written by 1:54 pm Aviation

ทำความรู้จัก Sriwijaya Air สายการบินที่เคยใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอินโดนีเซีย

วันที่ 9 มกราคม 2021 มีข่าวน่าเศร้าในวงการการบินนั่นคือการขาดการติดต่อและหายจากจอเรดาร์ของเที่ยวบิน SJ182 สายการบิน Sriwijaya Air เครื่องบินแบบ Boeing 737-500 ทะเบียน PK-CLC มีกำหนดการเดินทางไปยังเมือง Pontianak

วันที่ 9 มกราคม 2021 มีข่าวน่าเศร้าในวงการการบินนั่นคือการขาดการติดต่อและหายจากจอเรดาร์ของเที่ยวบิน SJ182 สายการบิน Sriwijaya Air เครื่องบินแบบ Boeing 737-500 ทะเบียน PK-CLC มีกำหนดการเดินทางไปยังเมือง Pontianak และมีรายงานเพิ่มเติมว่ามีการพบชิ้นส่วนของเครื่องบินลำดังกล่าวเหนือพื้นน้ำทะเลทางตอนเหนือของกรุงจาการ์ตา

หลายๆคนอาจจะไม่คุ้นหูนักกับสายการบินนี้ เนื่องจากไม่ค่อยมีเส้นทางต่างประเทศเท่าใดนัก แต่จริงๆแล้วถือเป็นสายการบินที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในอุตสาหกรรมการบินของอินโดนีเซียทีเดียว เราลองมาทำความรู้จักไปพร้อมๆกัน…..
|
sriwijaya air
– Sriwijaya Air ก่อตั้งขึ้นในปี 2003 หรือเมื่อ 17 ปีมาแล้ว โดยชื่อสายการบินมาจาก “ศรีวิชัย” ซึ่งเป็นชื่ออาณาจักรเก่า ที่มาอาณาเขตครอบคลุม เกาะชวา เกาะสุมาตรา ที่เป็นที่ตั้งของประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน

– ใช้เวลาเพียง 6 ปี สามารถขยายฝูงบินจำนวนมากที่สุด 23 ลำในปี 2009 ทำการบินสู่กว่า 35 จุดหมาย เป็นสายการบินที่ให้บริการในเส้นทางในประเทศเกือบทั้งหมด เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่และมีเกาะเป็นจำนวนมากทำให้การเดินทางทางอากาศเป็นที่นิยมและจำเป็น ส่งผลต่อการขยายตัวของสายการบิน สำหรับเส้นทางระหว่างประเทศไม่กี่เส้นทาง เช่น ปีนัง ประเทศมาเลเซีย และเป็นไม่กี่สายการบินที่ให้บริการไปยังกรุงดิลี ประเทศติมอร์ตะวันออก

เส้นทางการบินของ Sriwijaya Air

– ปัจจุบัน Sriwijaya Air มีฝูงบินขนาด 18 ลำ ประกอบด้วย Boeing 737-500, 737-800,737-900ER จำนวน 4,11 และ 2 ลำตามลำดับ โดยเครื่องบินในอดีตที่ปลดประจำการไปแล้วทุกลำเป็นเครื่องบินแบบ Boeing 737 ทั้งหมด Sriwijaya Air ยังเคยแสดงความต้องการสั่งซื้อ (เซ็นสัญญา Letter of Intent ที่งาน Paris Airshow ในปี 2015) Boeing 737 MAX8 จำนวน 20 ลำ แต่มีการยกเลิกภายหลัง

– มีสายการบินในเครือคือ NAM Air โดยให้บริการในลักษณะ Feeder คือบินต่อจากฐานการบินต่างๆของ Sriwijaya Air ไปในจุดหมายที่มีความต้องการเดินทางน้อยกว่า เช่นเมืองขนาดเล็ก หรือเกาะต่างๆ มีฝูงบินเป็น Boeing 737-500 และ ATR 72-600 รวมทั้งหมด 16 ลำ

 

nam air

เครื่องบินแบบ ATR 72-600 ของสายการบิน NAM Air

 

– Sriwijaya Group (ทั้ง Sriwijaya Air และ NAM Air) เคยเป็นสายการบินที่มีขนาดฝูงบินใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอินโดนีเซีย รองจากสองกลุ่มสายการบินขนาดใหญ่ในประเทศอย่าง Lion Air/Batik Air/Wings Air และ Garuda/Citylink

– เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา Garuda ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของอินโดนีเซีย ได้ทำการควบรวมกับ Sriwijaya ทั้งในด้านการปฏิบัติการบินและในด้านการเงิน เหตุผลหลักเพราะต้องการจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับกลุ่ม Lion Air ที่ขณะนั้นครองส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศมากกว่า 50%

สำหรับเครื่องบินที่เกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ ถือเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงครั้งที่ 3 ในรอบ 6 ปีของสายการบินจากประเทศอินโดนีเซีย หลังจากเหตุการณ์ AirAsia เที่ยวบิน QZ8501 เมื่อปีปลายปี 2014 และ Lion Air เที่ยวบิน JT610 เมื่อปี 2018 นั่นเอง หลังจากนี้ต้องรอประกาศอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระบวนการค้นหาและช่วยเหลือ รวมถึงสืบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุเพื่อการป้องกันไม่ให้เกิดอีกในอนาคต เราขอเป็นกำลังใจให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้❤️

sriwijaya air

ภาพเส้นทางบินจาก Flightradar24 แสดงให้เห็นถึงเส้นทางบินและตำแหน่งสุดท้ายของเที่ยวบิน SJ182 สายการบิน Sriwijaya Air ที่ขาดการติดต่อกับหอบังคับการบินเหนือทะเลอินโดนิเซีย หลังจากวิ่งขึ้นจากสนามบินซูการ์โน ฮัตตา กรุงจาการ์ตา ประมาณ 4 นาที

Last modified: January 10, 2021
Close