Written by 9:05 pm Aviation

[บทวิเคราะห์] ทำไม”นกสกู๊ต” ต้องปิดกิจการ?

ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดข่าวใหญ่ของวงการการบินในรอบเดือนที่ผ่านมา ทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน กับบทวิเคราะห์จากมุมมองผู้เขียนที่ติดตามสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการบินอย่างใกล้ชิด

ตามที่มีข่าวออกมาเมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า สายการบินนกสกู๊ต สายการบินร่วมทุนระหว่างสายการบินนกแอร์ และสายการบินสกู๊ต (สกู๊ตถือหุ้นทั้งหมดโดย Singapore Airlines) ได้มีมติจากคณะกรรมการบริษัทในการปิดกิจการ  ทำให้นกสกู๊ตกลายเป็นสายการบินของไทยสายการบินแรกที่ได้รับผลประทบอย่างรุนแรงถึงกับปิดกิจการหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้การเดินทางทางอากาศหดตัวอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในเส้นทางต่างประเทศ โดยสามารถอ่านแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของสายการบินได้ที่นี่

จากการติดตามข่าวสารความเป็นไปในอุตสาหกรรมการบิน ผู้เขียนขอแบ่งสาเหตุของการปิดกิจการครั้งนี้ออกเป็นปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในดังนี้

ปัจจัยภายนอก

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และการหดตัวอย่างรุนแรงของอุตสาหกรรมการบิน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสายการบินนกสกู๊ต เพราะเส้นทางการบินส่วนใหญ่ของสายการบินนั้นไปยังประเทศจีน โดยก่อนหน้าการแพร่ระบาดที่ทำให้การเดินทางลดลงเป็นวงกว้างเริ่มจากประเทศจีนนั้น นกสกู๊ตทำการบินแบบประจำไปถึง 3 เมืองในประเทศจีน นั่นคือ นานกิง, ชิงเต่า, เสิ่นหยาง รวมถึงเที่ยวบินแบบเหมาลำไปยัง ต้าเหลียน และ ฉางชุน

นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. 2020 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน นกสกู๊ตยังหยุดทำการบินทุกเที่ยวบิน ทั้งเที่ยวบินสู่ญี่ปุ่น อินเดีย และไทเป จะมีเพียงแค่เที่ยวบินพิเศษรับส่งผู้โดยสารกลับภูมิลำเนาและเที่ยวบินขนส่งสินค้าเท่านั้น ทำให้ขาดรายได้จากบัตรโดยสารส่งผลต่อสภาพคล่องของบริษัทอย่างรุนแรง ประกอบกับความไม่ชัดเจนของการฟื้นตัวของความต้องการการเดินทางทางอากาศในอนาคต

นกสกู๊ต

ตารางแสดงความต้องการการเดินทางคาดการณ์ล่วงหน้าจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ข้อมูลจาก IATA

จากกราฟด้านบนจะเห็นว่า มีการคาดการณ์ความต้องการการเดินทางทางอากาศ จะกลับมาเท่ากับปี 2019 จะต้องใช้เวลาจนถึงปี 2022 หรืออย่างช้าคือปี 2023 ซึ่งทางสายการบินนกสกู๊ตน่าจะมองว่าไม่สามารถประคองสถานะทางการเงินไปถึงช่วงเวลานั้นได้

ความไม่แน่นอนของจำนวนผู้โดยสารชาวจีนจากหลากหลายเหตุการณ์ในประเทศไทย

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น กลุ่มผู้โดยสารมากกว่าครึ่งหนึ่งของสายการบินนกสกู๊ตมาจากประเทศจีน เมื่อมีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนย่อมส่งผลกระทบทางตรงมายังสายการบิน ยกตัวอย่างเช่น

  • เหตุการณ์เรือนำเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อปี 2018
  • เหตุการณ์พนักงานองค์กรแห่งหนึ่งทำร้ายร่างกายนักท่องเที่ยวจีนที่สนามบิน เมื่อปี 2018
  • เหตุการณ์กวาดล้างทัวร์ 0 บาท เมื่อปี 2019

ถึงแม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนโดยรวมในแต่ละปีจะไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญมากนัก แต่ทั้งสามเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนอย่างฉับพลัน ทำให้การวางแผนการขายที่นั่งหรือการบริหารรายได้ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เพราะการขายบัตรโดยสารให้กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนเกือบทั้งหมดจะเป็นการขายระยะยาว (Block Seat ล่วงหน้า) การมีผู้โดยสารยกเลิกกะทันหันย่อมส่งผลกระทบต่อผลประกอบการโดยรวมของสายการบิน

สภาพการแข่งขันอันรุนแรงของสายการบินต้นทุนต่ำที่ให้บริการเที่ยวบินระยะไกล

สายการบินนกสกู๊ตเป็นสายการบินต้นทุนต่ำให้บริการเที่ยวบินระยะไกล (4 ชั่วโมงขึ้นไป) เท่านั้น ในประเทศไทยมีสายการบินที่ให้บริการลักษณะนี้ดังนี้

  • สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ใช้เครื่องบินแบบ Airbus A330-300
  • สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ใช้เครื่องบินแบบ Airbus A330-300 และ A330neo (ปัจจุบันส่งคืนบริษัทแม่ที่ประเทศอินโดนิเซียทั้งหมด คาดว่าหลังจากนี้จะทำการบินเส้นทางระยะไกลด้วย Boeing 737-900ER)

(จากซ้ายไปขวา) Boeing 777-200 สายการบินนกสกู๊ต ความจุ 415 ที่นั่ง / Airbus A330neo สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ความจุ 377 ที่นั่ง / Airbus A330-300 สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ความจุ 392 ที่นั่ง

ทั้งสามสายการบินให้บริการในรูปแบบคล้ายกัน มีระดับราคาบัตรโดยสารใกล้เคียงกัน รวมถึงเส้นทางบินและเวลาเที่ยวบินที่ทับซ้อนกันหลายเส้นทาง ซึ่งตลาดสายการบินต้นทุนต่ำเป็นตลาดที่มีความอ่อนไหวด้านราคาสูง (Price Sensitivity) ผู้บริโภคมักจะตัดสินใจซื้อจากราคามากกว่าอรรถประโยชน์ด้านอื่นๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ผู้โดยสารที่เดินทางไปและกลับคนละสายการบิน เพราะเลือกซื้อเที่ยวบินที่ราคาต่ำที่สุดนั่นเอง

จากสาเหตุดังกล่าว ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา หรือสงครามราคาขึ้น ทุกสายการบินพยายามขายบัตรโดยสารให้ได้ก่อนเพื่อเป็นการเพิ่มอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) ล่วงหน้า ซึ่งวิธีที่ง่ายและได้ผลที่สุดก็คือขายราคาให้ถูกกว่าคู่แข่งนั่นเอง

การแข่งขันการด้านราคาอย่างรุนแรงตลอดการดำเนินงานของสายการบิน ราคาโปรโมชั่นในการเดินทางไปญี่ปุ่นเริ่มที่ประมาณ 2,000 บาทเท่านั้น

ช่วงเวลาการเข้าสู่ตลาดของสายการบิน

สายการบินนกสกู๊ต ก่อตั้งเมื่อปี 2014 ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาข้อกังวลด้านความปลอดภัยหรือ Significant Safety Concerns (SSC) จากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศหรือ ICAO โดยเมื่อเริ่มก่อตั้ง นกสกู๊ตได้วางเครือข่ายการบินไปยังจุดหมายที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวชาตินั้นๆและต้องเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวชาวไทยด้วย เช่นเส้นทางประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่อยู่ในช่วงเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยจากมาตรการยกเว้นวีซ่า

ต่อมาเมื่อต้นปี 2015 ICAO ได้เพิ่มประเทศไทยเข้าไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่มี Significant Safety Concerns (SSC) และได้เพิ่ม “ธงแดง” เข้ามาหน้าชื่อประเทศไทยในเว็บไซต์หลักของ ICAO หรือที่เราคุ้นเคยกันว่า ประเทศไทยติดธงแดง เมื่อติดธงแดงแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาทันทีนั่นคือ สายการบินภายในประเทศไม่สามารถที่จะเพิ่มเส้นทางบินได้ นอกเสียจากต้องผ่านการตรวจสอบเป็นพิเศษจากหน่วยงานการบินพลเรือนของประเทศจุดหมายนั้นๆ

สำหรับนกสกู๊ต เมื่อประเทศไทยติดธงแดง แผนการเพิ่มเครือข่ายไปยังญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จึงต้องชะงักลง สิ่งที่นกสกู๊ตทำก็คือเน้นไปที่ตลาดประเทศจีนและไทเป ซึ่งมีข้อจำกัดในการเปิดเส้นทางไปในขณะติดธงแดงน้อยกว่า จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่เริ่มต้นทำการบินยังไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ทำให้เกิดเป็นปัญหาสะสมมาอย่างยาวนานจนต้องยุติกิจการลงในที่สุด

ปัจจัยภายใน

เป็นสายการบินที่ให้บริการเที่ยวบินต่างประเทศเท่านั้น

นกสกู๊ตให้บริการเส้นทางต่างประเทศในภูมิภาคเท่านั้น ไม่ได้ให้บริการเที่ยวบินในประเทศ ทั้งจากขนาดของเครื่องบินรวมถึงข้อจำกัดจากใบรับรองผู้ดำเนินการในอากาศหรือ AOC ทำให้เกิดข้อจำกัดในการบริหารเครือข่ายการบิน ซึ่งจริงๆแล้วเริ่มมีการขายระหว่างกัน (Interline) ระหว่างนกสกู๊ตกับนกแอร์ รวมถึงพันธมิตรการบิน Value Alliance เพื่อเชื่อมต่อเครือข่ายการบินเข้าด้วยกัน แต่ก็ไม่สามารถสร้างยอดขายได้เพียงพอ

ในวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นั้น เส้นทางบินที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเส้นทางระหว่างประเทศ เพราะเป็นเส้นทางที่ถูกห้ามทำการบินก่อนและจะอนุญาตให้ทำการบินเป็นลำดับสุดท้าย ทำให้สายการบินที่ทำการบินเฉพาะเส้นทางต่างประเทศจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะมีช่วงเวลาการขาดรายได้ยาวนานกว่าสายการบินอื่นนั่นเอง

เส้นทางการบินของนกสกู๊ตช่วงปลายปี 2019

เป็นสายการบินร่วมทุนระหว่าง 2 สายการบิน ต่างกับสายการบินอื่นๆในตลาด

สายการบินเกือบทุกสายในประเทศไทย เป็นการร่วมทุนในรูปแบบ สายการบินต่างชาติร่วมทุนกับกลุ่มทุนในประเทศ ส่วนสายการบินนกสกู๊ตเป็นการร่วมทุนระหว่างสายการบินนกแอร์กับสายการบินสกู๊ต(มีสายการบิน Singapore Airlines ถือหุ้น 100%) ในสัดส่วน 49% ต่อ 49% และมีผู้ถือหุ้นชาวไทยอีก 2%

รูปแบบการร่วมกิจการดังกล่าว มีผลดีในช่วงการจัดตั้งบริษัทและดำเนินกิจการ เพราะสามารถนำจุดแข็งของแต่ละสายการบินเข้ามาผสานรวมกัน เช่นในกรณีของนกสกู๊ต สามารถนำจุดเด่นด้านการควบคุมต้นต้นทุน และเทคโนโลยีต่างๆจากสกู๊ตมารวมกับประสบการณ์การทำตลาดในประเทศไทยของนกแอร์

ส่วนข้อเสียของการร่วมทุนแบบนี้คือ เมื่อเกิดวิกฤติอะไรขึ้นมาที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินในภาพรวม ผู้ถือหุ้นทั้ง 100% ของบริษัทย่อมได้รับผลกระทบในธุรกิจหลักหรือสายการบินของตนเอง ทรัพยากรทั้งหมดโดยเฉพาะด้านเงินทุนย่อมต้องนำไปใช้ที่ธุรกิจหลักของตัวเองก่อน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือสถาณการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับทุกสายการบินทั่วโลก

ใช้เครื่องบินแบบ Boeing 777-200…ความสะดวกสบายที่ต้องแลก

นกสกู๊ตใช้เครื่องบินลำตัวกว้างพิสัยกลาง-ไกล คือ Boeing 777-200 มีความจุผู้โดยสาร 415 ที่นั่ง ติดตั้งเครื่องยนต์ Rolls-Royce Trent800 โดยเป็นหนึ่งในสองสายการบินต้นทุนต่ำบนโลกที่ใช้เครื่องบินแบบนี้ให้บริการ อีกสายการบินคือ Jin Air สายการบินในเครือ Korean Air

ถึงแม้ว่า Boeing 777 จะเป็นเครื่องบินที่สะดวกสบายเพราะมีลำตัวกว้างกว่า Airbus A330 ที่สายการบินคู่แข่งในประเทศให้บริการ และเป็นเครื่องบินที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก แต่ปัญหาของนกสกู๊ตสำหรับเครื่องบินในภาพรวมมีดังนี้

  • อายุเฉลี่ยของเครื่องบิน 18 ปี ทำให้ต้นทุนค่าดูแลรักษาและค่าซ่อมบำรุงย่อมสูงขึ้น
  • อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมัน เมื่อเปรียบเทียบกับ Airbus A330 ที่คู่แข่งให้บริการ โดย Boeing 777 มีอัตราการสิ้นเปลืองเฉลี่ยที่ 6 ตันต่อชั่วโมง เปรียบเทียบกับ 5.7 ตันต่อชั่วโมงของ Airbus A330 (ข้อมูลจากที่นี่) จะเห็นได้ว่าค่าเฉลี่ยต่างกัน 5% ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่สูงพอสมควร ทำให้ต้นทุนการบินสูงกว่าคู่แข่ง ยิ่งค่าน้ำมันเป็นต้นทุนสัดส่วนที่สูงที่สุดของการดำเนินการสายการบินอยู่แล้ว

(จากซ้ายไปขวา) เครื่องยนต์ Rolls-Royce Trent800 บนเครื่องบิน Boeing777 ของนกสกู๊ตและ Rolls-Royce Trent700 บนเครื่องบินแบบ Airbus A330 ที่สายการบินคู่แข่งเลือกใช้

การประกาศปิดกิจการ วันที่ 26 มิถุนายน 2020

จากเหตุผลหลายประการที่กล่าวมาข้างต้นและปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ทำให้คณะกรรมการของสายการบินมีมติเลิกกิจการ ทำให้บริษัทเข้าสู่กระบวนการชำระบัญชี (Liquidation) ตามกฎหมายต่อไป สำหรับค่าโดยสารที่ยังไม่ได้รับคือ สายการบินสกู๊ตในฐานะผู้ถือหุ้นได้ประกาศจะชำระคืนให้ 50% สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่นี่ ส่วนอีก 50% ต้องรอความชัดเจนต่อไป (ข้อมูล ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2020)

ประกาศเลิกกิจการอย่างเป็นทางการจากสายการบินนกสกู๊ต

และเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา นกสกู๊ตได้นำเครื่องบินที่เหลืออีก 2 ลำออกจากประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถือเป็นการปิดฉากสายการบินนกสกู๊ตอย่างเป็นทางการ เพราะจะไม่มีเครื่องบินเหลืออยู่ในประเทศไทยเลย อ้างถึงประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (การออก AOL) ระบุไว้ว่า

” อากาศยานที่ผู้ขอรับใบอนุญาตจะจัดหามาเพื่อใช้ในการประกอบกิจการแบบประจำต้องมีไม่น้อยกว่า 2 ลำ”

โดยทำการบินเส้นทาง ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อลิซ สปริงส์ ประเทศออสเตรเลีย เหมือนกับอีก 5 ลำก่อนหน้านี้ โดยเป็นการคืนเครื่องกลับสู่ผู้ให้เช่า และจอดเก็บรักษาไว้ที่ออสเตรเลียต่อไป

นกสกู๊ต ปิด

HS-XBD ขณะกำลังจะขึ้นบินเป็นครั้งสุดท้ายจากดอนเมือง เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ไม่บ่อยนักที่จะมีสายการบินที่เราคุ้นเคยกันต้องปิดกิจการลง ทำให้ถือเป็นข่าวใหญ่ที่คนให้ความสนใจพอสมควร จริงๆแล้วปัจจัยภายนอกต่างๆที่กล่าวข้างต้น หรือจะกล่าวได้ว่า ทุกมรสุมที่นกสกู๊ตต้องเผชิญ สายการบินอื่นๆก็ต้องเผชิญเช่นเดียวกัน แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆอีกมากมายที่ทำให้สายการบินตัดสินใจแบบนี้ หวังว่าทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดีทั้งผู้โดยสารที่รอเงินคืน พนักงาน รวมถึงตัวสายการบินเองที่ต้องจัดการปัญหาที่เหลืออยู่

มรสุมทั้งหลายยังคงอยู่ ผู้เขียนในฐานะคนที่รักในการบิน หวังว่าอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยจะกลับมาเหมือนเดิมและก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงโดยเร็ว…….ขอบคุณครับ

อย่าลืมติดตาม Wingtips เพื่อที่จะไม่พลาดข่าวสารและเรื่องเล่าการบินอื่นๆตามช่องทางดังนี้

Homepage : Wingtips
Facebook : WingtipsTH
Instagram : wingtips_th

สำหรับติดต่อโฆษณาและอื่นๆสามารถส่งรายละเอียดมาได้ที่ [email protected]

Last modified: July 15, 2020
Close