Written by 9:58 pm Aviation

Boeing C-17 หนึ่งในสุดยอดเครื่องบินขนส่งทางยุทธวิธีในปัจจุบัน

พบกับ “เรื่องราวรุ่นเครื่องบิน” ที่มาที่ไป ความน่าสนใจของเครื่องบินแต่ละรุ่น ที่อาจจะเคยแค่ได้ยินชื่อ ไปทำความรู้จักไปด้วยกัน

ไปรู้จักกับเครื่องบินอีกรุ่นที่เรียกได้ว่าเป็นม้างานหลัก หรือเป็นกระดูกสันหลังทางด้านโลติสติกส์ของกองทัพสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว กับภาพน่าตกใจที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลกเมื่อปี 2021 กับภารกิจอพยพคนออกจากประเทศอัฟกานิสถานที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกลุ่มตาลีบัน ภาพผู้คนวิ่งตามเครื่องบินทหารลำใหญ่ที่กำลังจะวิ่งขึ้น รวมถึงภาพผู้คนแน่นขนัดภายในเครื่องบิน…Boeing C-17 Globemaster III

U.S. Air Force photo by Staff Sgt. Brandon Cribelar

Boeing C-17 Globemaster III หนึ่งในสุดยอดเครื่องบินขนส่งทางยุทธวิธีในปัจจุบัน

C-17 ถูกพัฒนาตามความต้องการของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาให้เป็นเครื่องบินขนส่งที่มาแทน Lockheed C-141 และมีขนาดเล็กกว่า Lockheed C-5 เพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติภารกิจ แรกเริ่มพัฒนาโดย McDonnell Douglas ตั้งแต่ก่อนปี 1990 โดยได้ส่งมอบลำแรกให้กับกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาในปี 1993 ภายใต้ชื่อ McDonnell Douglas C-17 จนในปี 1997 นั้น Boeing ได้ควบรวมกิจการ McDonnell Douglas และตัดสินใจที่จะดำเนินโครงการผลิตเครื่องบินรุ่นนี้ต่อ ชื่อเครื่องบินรุ่นนี้จึงกลายเป็น Boeing C-17 และมีการผลิตอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2015

U.S. Air Force photo by Tech. Sgt. Carlton Creary

เครื่องบินรุ่นนี้ติดตั้งเครื่องยนต์ F117-PW-100 ที่ผลิตโดย Pratt & Whitney จำนวน 4 เครื่องยนต์ โดยมีการพัฒนาเพิ่มเติมจากเครื่องยนต์ที่ใช้ในเครื่องบินโดยสารอย่าง PW2000 ที่ติดตั้งกับเครื่องบินแบบ Boeing 757 โดยแต่ละเครื่องยนต์มีกำลังขับประมาณ 40,000 นิวตัน

U.S. Air Force photo by Airman 1st Class Makensie Cooper

สำหรับสมรรถนะของเครื่องบินรุ่นนี้ สามารถบรรทุกสินค้าได้สูงสุดประมาณ 80 ตัน (มากกว่า C-130 ที่เราคุ้นเคยกันเกือบ 4 เท่าตัว) มีพื้นที่กว้างที่สามารถบรรจุรถถัง M1 Abrams ได้ 1 คันหรือยานเกราะ Strykers ได้ถึง 3 คัน มีขนาดลำตัวยาว 53 เมตรหรือพอๆกับ Boeing 787-8 มีพิสัยการบิน 4,480 กิโลเมตรเมื่อบรรทุกสินค้าเต็มอัตรา และกว่า 8,000 กิโลเมตรเมื่อทำการบินเครื่องเปล่า อีกทั้งยังมี “ท่าไม้ตาย” คือการใช้ระยะทางในการวิ่งขึ้นและลงที่สั้นมาก นั่นคือประมาณ 900 เมตรในการวิ่งขึ้น (ตัวเปล่า) และประมาณ 1 กิโลเมตรในการลงจอดจนถึงหยุดสนิทเมื่อบรรทุกของเต็มอัตรา

U.S. Air Force photo/Tech. Sgt. Shane A. Cuomo

ฉายา Globemaster III

ปัจจุบันมีการผลิต C-17 มาทั้งหมดไม่ถึง 300 ลำ ประจำการในกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก สำหรับประเทศอื่นๆที่มีประจำการได้แก่ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย แคนาดา อินเดีย กาตาร์ เป็นต้น ส่วนสาเหตุที่มีชื่อเล่นว่า Globemaster III นั้นเป็นเพราะใช้ชื่อนี้ต่อมาจากเครื่องบินขนส่งอีก 2 ลำ นั่นคือ Douglas C-74 Globemaster และ Douglas C-124 Globemaster II นั่นเอง

Douglas C-74 Globemaster และ Douglas C-124 Globemaster II

จากสมรรถนะของเครื่องบินรุ่นนี้ ที่สามารถบรรทุกได้เยอะและยังมีเทคโนโลยีต่างๆทันสมัย รวมถึงสามารถขึ้นลงได้ในระยะทางที่สั้น ทำให้ปัจจุบันกลายเป็นเครื่องบินขนส่งหลักรุ่นหนึ่งของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ดังที่เราจะเห็นเครื่องบินลำใหญ่ สีดำทมึนแบบนี้ทั่วทุกมุมโลก

อีกความประทับใจของเครื่องบินรุ่นนี้จากเหตุกาณ์ที่อัฟกานิสถาน

Zarafshan Mirzaie ผู้อพยพชาวอัฟกานิสถาน ได้กลับไปเยี่ยมเครื่องบินแบบ Boeing C-17 Globemaster III หมายเลขเครื่อง 10186 ที่ฐานทัพอากาศโดเวอร์ รัฐเดลาแวร์ สหรัฐอเมริกา โดยกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาได้จัดงานครบรอบ 1 ปี ปฏิบัติการ Operation Allies Refuge ในช่วงเดียวกันนี้ของปีที่แล้ว โดย Zarafshan Mirzaie เป็นผู้อพยพรายที่ 2,311

สำหรับปฏิบัติการ Operation Allies Refuge นั้นเป็นปฏิบัติการอพยพบุคลากร รวมถึงประชาชนชาวอัฟกานิสถานที่ต้องการออกจากประเทศซึ่งกล่ายเป็นพื้นที่ความรุนแรง ภายหลังจากการถอนกำลังทหารสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรออกจากอัฟกานิสถาน รวมถึงการกลับเข้ามามีบทบาทของกลุ่มตาลีบัน โดยเป็นปฏิบัติการที่เกิดขึ้นในช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม 2021 ทุกคนคงจำกันได้กับภาพข่าวที่มีผู้อพยพจำนวนมากนั่งเบียดกันมาบนเครื่อง มุ่งหน้าหนีความรุนแรงในประเทศบ้านเกิด

Tags: , Last modified: September 15, 2022
Close