Written by 11:03 pm Aviation

AAVไม่ใช่แอร์เอเชีย..ย้อนอดีตผู้ถือหุ้นก่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

วันนี้มีข่าวใหญ่จาก บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ที่จะทำการปรับโครงสร้างกิจการและทุน ซึ่งโฉมหน้าของบริษัทในอนาคตจะเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก

บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2546 หรือ 18 ปีมาแล้ว โดยช่วงแรกให้บริการด้วยเครื่องบินแบบ Boeing 737-300 จำนวน 2 ลำ และเริ่มให้บริการเที่ยวบินแรกในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 ในเส้นทางจากกรุงเทพสู่ภูเก็ต, หาดใหญ่และเชียงใหม่

ผ่านมา 18 ปี วันนี้มีข่าวใหญ่จาก บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ที่จะทำการปรับโครงสร้างกิจการและทุน ซึ่งโฉมหน้าของบริษัทในอนาคตจะเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะ “AAV” ที่เหล่านักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคุ้นเคยจะไม่มีอีกต่อไป จะกลายมาเป็น “บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด (มหาชน)” แทน

ช่วงเวลาที่สายการบินไทยแอร์เอเชียให้บริการมานั้น มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นอยู่หลายครั้ง แต่ละครั้งก็มีความน่าสนใจแตกต่างกันไป เราลองมาย้อนดูกันว่าแต่ละครั้งนั้นเป็นอย่างไร….

ช่วงการก่อตั้งในปี 2546

เริ่มก่อตั้งสายการบินไทยแอร์เอเชีย มีสัดส่วนการถือหุ้นดังนี้

-บริษัท บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 50%
-บริษัท AirAsia Investment (AAI) ถือหุ้น 49% โดย AAI มี AirAsia Berhad (AAB) ถือหุ้น 100% ซึ่ง AAB เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศมาเลเซีย
-นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ถือหุ้น 1%

หลังจากนั้นไม่นาน ในช่วงปี 2549 เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ได้ทำการซื้อหุ้น บริษัท บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จากกลุ่มชินวัตร ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของเทมาเส็กอยู่ที่ 49% ซึ่งส่งผลต่อการประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ ซึ่งกำหนดไว้ว่า ผู้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ ต้องมีเจ้าของเป็นสัญชาติไทยอย่างต่ำ 51% ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เนื่องจากสัดส่วนที่เหลือคือ 49% นั้นเป็นบริษัทสัญชาติมาเลเซียไปแล้วนั่นเอง

ดังนั้น กลุ่มผู้บริหารของสายการบินในขณะนั้นจึงได้ร่วมกันซื้อหุ้นในส่วนของชินคอร์ปอเรชั่นในสายการบินไทยแอร์เอเชียกลับมา เกิดขึ้นเป็น บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด นั่นเอง

ช่วงแรกให้บริการด้วยเครื่องบินแบบ Boeing 737-300

ช่วงปี 2549 : จุดเริ่มต้นของ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด

– บริษัท บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด ถือหุ้น 50%
– บริษัท AirAsia Investment (AAI) ถือหุ้น 49% คงเดิม
– นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ถือหุ้น 1%

หลังจากนั้นในปี 2554 บริษัท บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด ได้ซื้อหุ้นสัดส่วน 1% ของนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ทำให้บริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นในไทยแอร์เอเชียเพิ่มเป็น 51%

ช่วงปี 2554-2555 : การจดทะเบียน บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด เป็นบริษัทมหาชนและจดทะเบียนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2555

1 พฤษภาคม 2555 บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใต้ชื่อย่อ “AAV” และเริ่มต้นซื้อขายวันแรกในวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 โดยมีราคาเสนอขายครั้งแรกต่อสาธารณะ (IPO) อยู่ที่ 3.70 บาท โดยการซื้อขายวันแรกหุ้นมีการขึ้นมาที่ 4 บาทก่อนที่จะปิดตลาดที่ราคาเดิมคือ 3.70 บาท

หลังจากการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก็มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นอีกครั้ง โดย บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ได้นำเงินที่ได้จากการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ไปจองซื้อหุ้นสามัญออกใหม่ทั้งหมดของ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ทำให้ AAV เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 55% ส่วนอีก 45% คือ AirAsia Investment (AAI) เช่นเดิม

ช่วงปี 2559 : กลุ่ม King Power กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่

ข่าวใหญ่อีกครั้งของวงการ เมื่อกลุ่มคิงพาวเวอร์ ได้เข้าซื้อหุ้นของ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 39% จากนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ที่เหลือหุ้นหลังขายออกที่ 5% เท่านั้น แต่ยังคงทำหน้าที่ผู้บริหารต่อไป

ภาพจาก PPTV

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ซื้อหุ้นคืนจากกลุ่มคิงพาวเวอร์ ช่วงปี 2560

ข่าวใหญ่อีกครั้งหลังจากข่าวแรกไม่นานนัก เมื่อนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ และกลุ่มคิงพาวเวอร์เปิดเผยว่าได้ทีการซื้อขายหุ้นคืนกันในสัดส่วน 36.3% ในราคา 4.70 บาทต่อหุ้น มูลค่ารวมกว่า 8,000 ล้านบาท ทำให้นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ที่เดิมถือหุ้นในสัดส่วน 5% กลับมาถือหุ้นในสัดส่วน 41.3%

16 เมษายน 2561 กลุ่มแอร์เอเชียปรับโครงสร้างการถือหุ้น โดยจัดตั้ง AirAsia Group Berhad (“AAGB”) เพื่อเข้าถือหุ้นใน AAI โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 100 แทน AAB

หลังจากเหตุการณ์นี้ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นครั้งใหญ่ใน AAV และสายการบินไทยแอร์เอเชียแต่อย่างใด จนผ่านมาถึงวิกฤติการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่ทำให้สายการบินไม่สามารถทำการบินได้เต็มที่ จนต้องมีการประกาศปรับโครงสร้างทุนครั้งใหญ่ในวันนี้นั่นเอง

ณ ปัจจุบัน (27 เมษายน 2564 – ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 5 อันดับแรกของ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) มีดังนี้

1. นาย ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ 40.52%
2. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 5.45%
3. กองทุนเปิด บัวหลวงหุ้นระยะยาว 4.78%
4. นาย ธนรัชต์ พสวงศ์ 3.73%
5. กองทุนเปิด บัวหลวงหุ้นระยะยาว 75/25 1.99%

การปรับโครงสร้างกิจการและทุนของ AAV และสายการบินไทยแอร์เอเชีย

วันที่ 27 เมษายน 2564 บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศปรับโครงสร้างบริษัทและโครงสร้างทุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง และยังมีหุ้นกู้ที่กำลังจะครบกำหนดไถ่ถอน รวมถึงมีส่วนของหนี้สินค่อนข้างมาก โดยมีแนวทางการดำเนินการดังนี้

– การให้สินเชื่อโดยนักลงทุนใหม่ ในรูปของสัญญาเงินกู้แปลงสภาพ หรือหุ้นกู้แปลงสภาพโดยออกโดยไม่มีส่วนลด (Zero Coupon issued at 100% Nominal Value) ไม่เกิน 3,150 ล้านบาท โดยสามารถแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญของไทยแอร์เอเชีย (เมื่อได้รับอนุญาตให้เสนอขาย IPO) ได้ในราคาหุ้นละ 20.3925 บาท (ราคาที่ตราไว้คือ 0.5 บาท)

– ดำเนินการเพื่อนำ ไทยแอร์เอเชียเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแทน ซึ่งจะทำให้ AAV ถูกถอดออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และจะกลายเป็น บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด (มหาชน) แทน

– การโอนหุ้นที่ AAV ถือทั้งหมดในไทยแอร์เอเชียสัดส่วน 55% ให้แก่ผู้ถือหุ้นในปัจจุบันของ AAV ตามสัดส่วนการถือหุ้นในปัจจุบัน (เทียบเท่ากับ 1 หุ้น AAV ต่อ 0.098785 หุ้นไทยแอร์เอเชีย)

– การออกหุ้นใหม่ไม่เกิน 135.2 ล้านหุ้น โดยบางส่วนจะนำมาเสนอขายเป็นครั้งแรก (IPO)

ซึ่งระยะเวลาทั้งหมดทางบริษัทคาดว่าจะใช้ทั้งสิ้น 6 เดือน ต้องมาติดตามกันว่าการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มทุนครั้งนี้จะส่งผลดีต่อตัวสายการบินรวมถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินของไทยอย่างไร

Tags: , , Last modified: April 27, 2021
Close